top of page

Bentley

     Bentley เป็นบริษัทผลิตรถยนต์นั่งระดับอัครยนตรกรรมสัญชาติอังกฤษ ที่โชว์ความประณีตแบบผู้ดีอังกฤษและความสง่างามไว้ทุกระเบียดนิ้ว ในปี ค.ศ. 1919 Walter Owen Bentley ได้ก่อตั้งแบรนด์ยนตรกรรมระดับไฮเอนด์นี้ขึ้น จนถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 1 ศตวรรษแล้ว ที่เบนต์ลีย์ถูกดีไซน์และสร้างสรรค์ด้วยความรู้ความสามารถที่สั่งสมมายาวนาน ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุการผลิตชั้นเลิศเท่านั้น ผสมผสานนวัตกรรมอันล้ำสมัย อีกทั้งยังคงมาตรฐานด้านการใช้งาน รวมถึงพัฒนาด้านสมรรถนะและเทคโนโลยียานยนต์อย่างไม่หยุดยั้ง เป็นแบรนด์ยานยนต์ที่ให้มากกว่าความลักชัวรีและมอบประสบการณ์แบบไม่เคยได้สัมผัสที่ไหนเสมอให้กับคนพิเศษเสมอมา

Walter_O_Bentley.jpg
ภาพของ walter owen bentley ผู้ก่อตั้ง  Bentley 

 วอลเตอร์ โอเวน เบนต์ลี ผู้ก่อตั้งแบรนด์เบนต์ลีย์ชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1888 เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 9 คน เขาเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ ได้รับการศึกษาที่ดี ชีวิตในวัยเด็กของวอลเตอร์เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยการทดลองที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกของยานพาหนะ เป็นแพสชั่นส่วนตัวที่วอลเตอร์ให้ความสนใจอย่างมาก แถมทำได้ดีเสียด้วยจากการที่เขาได้ซื้อจักรยานมือสองมาและทำการถอดชิ้นส่วนเพื่อศึกษาถึงการทำงานของมันเมื่ออายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น จากนั้นความหลงใหลของเขาก็เริ่มกล้าแกร่งขึ้นเมื่อเขาอายุได้ 16 ปี วอลเตอร์ได้ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนและเริ่มฝึกงานในตำแหน่งวิศวกรฝึกหัดที่บริษัทรถไฟชื่อดังของอังกฤษ  Great Northern Railway แต่สายเลือดนักแข่งที่พุ่งพล่านในใจวอลเตอร์ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเช้าตรู่ เขาฝึกซ้อมการแข่งบนท้องถนนด้วยรถมอเตอร์ไซค์ Quadrant  ที่เขาซื้อร่วมกับพี่ชายทั้งสองของเขา ซึ่งในระหว่างปี ค.ศ. 1907 - 1908 วอลเตอร์ได้เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานยนต์วิบากหลากหลายรายการด้วยกัน เป็นเสมือนการเติมเต็มแพสชั่นในใจได้เป็นอย่างดี

Bentley-Continental-GT-2.jpg

 การเยี่ยมชมสำนักงานของรถยนต์แบรนด์ที่เขาทำธุรกิจอยู่ในปี ค.ศ. 1912 วอลเตอร์ได้พบกับที่ทับกระดาษที่ทำจากอะลูมิเนียมซึ่งมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือมีน้ำหนักเบา วอลเตอร์จึงได้ไอเดียที่จะนำธาตุโลหะนี้มาสร้างลูกสูบได้ดีกว่าเหล็กหรือเหล็กหล่อหรือไม่ จึงได้เกิดโลหะผสมที่ประกอบด้วยอะลูมิเนียม 88% และทองแดง 12% ในการสร้างลูกสูบใหม่ และเจ้าลูกสูบตัวใหม่นี้เองที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะการแข่งขันรถยนต์ที่ Brooklands และสร้างสถิติใหม่อยู่ที่ 89.7 ไมล์ต่อชั่วโมง

Sid_1912-WO-Bentley.jpg

     “We were going to make a fast car, a good car, the best in its class.”  (เราจะสร้างรถเร็ว รถที่ดีที่สุดในระดับเดียวกัน) นโยบายที่วอลเตอร์ยึดมั่นเป็นแนวทางการปฏิบัติซึ่งให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จของ Bentley Motors ที่ถือกำเนิดในวันที่ 10 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1919

     วอลเตอร์ได้พัฒนารถสปอร์ตสมรรถภาพสูงคันแรกของเขาร่วมกับ Harry Varley และ Frank Barges โดยให้ความสำคัญที่มุ่งเน้นไปที่ข้อมูลทางเทคนิคกำลังเครื่องยนต์ เป็นการสร้างสรรค์รถสปอร์ตที่ไม่เน้นรูปลักษณ์ภายนอก ก่อกำเนิดเป็นรถยนต์รุ่น Bentley L3 (3 Litre) เครื่องยนต์ 4 สูบ 3 ลิตร รถสปอร์ตคันแรก ซึ่งเปิดตัวในงาน London Motor Show ปี ค.ศ. 1919 

     บริษัท เบนต์ลีย์มอเตอร์ส จำกัด ถูกซื้อกิจการต่อโดย Wolf Barnato นักแข่งรถและนักลงทุนชาวอังกฤษ ในช่วงปี ค.ศ. 1926 เนื่องจากปัญหาทางด้านการเงินที่ถาโถมจนต้องตัดสินใจขายกิจการ แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านเจ้าของ ตัววอลเตอร์เองก็ยังคงทำงานออกแบบภายใต้ความดูแลของ Barnato ระหว่างที่เกิดการเปลี่ยนเจ้าของกิจการนั้นวอลเตอร์ก็ได้ผลิตผลงานชิ้นโบว์แดงออกมาคือ Six-cylinder Speed Six เวอร์ชันแข่งรถ ซึ่งเปิดตัวในปี ค.ศ. 1928 และได้รับการยกย่องว่าเป็นรถเบนต์ลีย์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดและชนะในการแข่งขัน Le Mans ในปี ค.ศ. 1929 และ ปี ค.ศ. 1930

     และแล้วการล้มละลายของเบนต์ลีย์ก็เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1931 ด้วยเหตุจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (Worldwide Great Depression) ส่งผลให้เบนต์ลีย์ไม่สามารถทำยอดขายได้ดีเท่าที่ควร และไม่สามารถประคับประคองธุรกิจตามที่ตั้งเอาไว้ได้ กิจการทั้งหมดถูกขายต่อให้กับ Rolls-Royce แล้วหันมาใช้โรงงานของ โรลล์สรอยซ์ ในการผลิตรถยนต์แทน และช่วงทศวรรษที่ 80 โรลล์สรอยซ์ได้ตัดสินใจทำการตลาดแยกกับเบนต์ลีย์อย่างสิ้นเชิง โดยภาพลักษณ์ของโรลล์สรอยซ์คือยานยนต์สำหรับเหล่ามหาเศรษฐีที่ไม่ต้องขับเอง ส่วนเบนต์ลีย์เป็นยานยนต์ของมหาเศรษฐีผู้ที่ลงมือขับเอง เพราะหลงใหลในความเร็วและแรงของเครื่องยนต์

     “โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป” ได้เข้าซื้อต่อกิจการทั้งหมดทั้งเครือโรลล์สรอยซ์และเบนต์ลีย์ในปี ค.ศ. 1998 แต่เนื่องจากเกิดปัญหาการแย่งชิงการถือครองสิทธิ์การเป็นเจ้าของแบรนด์โรลล์สรอยซ์ กับ “บีเอ็มดับเบิลยู” จึงได้ข้อตกลงที่ว่า บีเอ็มดับเบิลยู จ่ายเงินเพื่อให้ได้สิทธิ์ใช้แบรนด์โรลล์สรอยซ์ในการทำการทำตลาด แต่ในส่วนอื่นๆ อาทิ แบรนด์ เบนท์ลีย์ , โรงงาน , เครื่องจักร และเทคโนโลยี ในการผลิตทั้งหมดเป็นของโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป นับตั้งแต่ปี 2002 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่เบนต์ลีย์ยังคงเป็นแบรนด์ยนตรกรรมหรูสายเลือดอังกฤษอันเข้มข้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะถูกถือครองโดยโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป แห่งเยอรมันก็ตามภายใต้ปีกแห่งความเร็วที่หรูหรางดงาม ประวัติศาสตร์ และภาพจำอันตราตรึง จะขับเคลื่อนด้วยพลังอันร้อนแรงไปอย่างเหนือกาลเวลา

bottom of page